การดูแลสุขภาพทั้งร่างกายมีอยู่ด้วยกันหลายแบบมากมายไม่ว่าจะเป็นนั้น การดูแลสุขภาพองค์รวม การรักษาแบบบูรณาการองค์รวม แพทย์ทางเลือก เวชศาสตร์ฟื้นฟู การดูแลรักษาเป็นทีม และอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี เป้าหมายล้วนเหมือนกัน คือ เพื่อรักษาสุขภาพของผู้ป่วยในทุกแง่มุม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
งานวิจัยมากมายต่างพบว่าสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยนั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสุขภาพจิตใจ สุขภาพทางโภชนาการ สุขภาพทางจิตวิญญาณ และ ปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม (Social Determinants of Health - SDOH) อื่นๆ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย การศึกษา การเดินทางขนส่ง และความสามารถในการเข้าถึงบริการในชุมชนและบริการทางสังคม
อ่านต่อเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะของการดูแลสุขภาพทั้งร่างกาย ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด และสาเหตุที่ทำให้การดูแลสุขภาพทั้งร่างกายมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตขณะที่โลกฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไปพบแพทย์หรือโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์เนื่องด้วยเหตุผลอย่างเดียวโดยเฉพาะ นั่นก็คือ รู้สึกไม่สบาย รู้สึกเจ็บ มีอาการที่อธิบายไม่ได้ หรือได้รับบาดเจ็บบางอย่าง แพทย์ก็จะดูแลรักษาตามอาการในครั้งนั้นหรือตามโรคที่เกิดขึ้น โดยแพทย์จะตอบสนองกับสาเหตุที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์ในครั้งนั้น แพทย์จะวินิจฉัยปัญหาและจัดแผนการรักษาตามปัญหานั้นเท่านั้น
การเข้าพบแพทย์เพื่อทำการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายนั้นแตกต่างออกไปอย่างมาก แม้ว่าผู้ป่วยอาจขอเข้ารับบริการเนื่องด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่แพทย์จะให้การดูแลอย่างครอบคลุม โดยแพทย์จะวินิจฉัยปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงเรื่องอื่นๆ ทั้งหมดที่อาจเป็นผลทำให้เกิดปัญหานี้ แผนการรักษาที่ได้จึงตอบรับกับทุกเรื่อง ทั้งการดูแลรักษาปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น และจัดการหรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
Dr. Melissa Clarke ที่ปรึกษาของ 3เอ็ม ด้านการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกสำหรับแพทย์กล่าวว่า “สิ่งที่เราจะทำคือการประเมินสุขภาพของผู้ป่วยแบบ 360 องศา เราจะมองหาปัจจัยที่เป็นไปได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายนอกห้องตรวจที่อาจมีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย”
การประเมินแบบมองทั้งองค์รวมจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเพราะนอกเหนือจากผลกระทบต่อสภาพร่างกายเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว การระบาดของโคโรนาไวรัสยังมีผลกระทบต่อสุขภาพมากยิ่งกว่าในส่วนที่นอกเหนือจากสภาพร่างกาย ผลกระทบต่อสุขภาพในส่วนที่นอกเหนือจากสภาพร่างกายอาจรวมถึงการขาดความมั่นคงด้านอาหาร การเข้าถึงบริการทางสังคมและการนอนหลับ ผลกระทบจากการเว้นระยะห่างทางสังคมต่อสุขภาพทางอารมณ์ และความเครียดจากการสูญเสียงาน ประกันสุขภาพ หรือสมาชิกในครอบครัว
เมื่อคุณเข้าพบ Dr. Bernadette Clevenger แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและเวชศาสตร์ฟื้นฟูในเมืองเซนต์พอล รัฐมินนิโซตา โดยอยู่ในเครือของ Fairview Health Services คุณหมอจะไม่ใช่แค่ถามว่า "วันนี้เป็นอะไรคะ" หรือ "ช่วยเล่าหน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น" แต่จะยังจะถามเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่คุณหมอบอกว่าเป็นแง่มุมที่เกี่ยวข้องกันกับสุขภาพของคุณ สิ่งที่นอกเหนือไปจากสัญญาณและอาการทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น
Dr. Clevenger และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูผู้อื่นจะดึงเอาข้อมูลจากคำถามเหล่านี้โดยอาศัยเครื่องมือการคัดกรองที่ได้รับการยอมรับและมีการศึกษาวิจัยรองรับ โดยเครื่องมือจะสามารถช่วยให้แพทย์สามารถสืบสาวหาต้นตอของสภาพร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็ได้ทำให้สาเหตุต้นตอเหล่านี้ลุกลามไปมาก
Dr. Clevenger กล่าวว่า “ต้นเหตุหลักที่สำคัญที่สุดที่เราพบคือจิตใจ ทุกอย่างเริ่มต้นจากจิตใจของเรา ความคิดของเรา อารมณ์และความรู้สึกของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจจะกำหนดพฤติกรรม และพฤติกรรมก็จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของเรา”
ตัวอย่างเช่น คุณหมอบอกว่าความเครียดจากการทำงานสามารถส่งผลให้ นอนหลับไม่พอได้ การนอนหลับไม่พอสามารถส่งผลให้มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ความอยากอาหารเพิ่มขึ้นสามารถส่งผลให้รับประทานอาหารมากเกินไป การรับประทานอาหารมากเกินไปก็อาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งนำไปสู่โรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงได้
แผนการรักษาที่ได้จึงไม่ได้มีแค่การสั่งจ่ายยาสำหรับโรคเบาหวานหรือโรคความดันโลหิตสูงเท่านั้น แต่แผนการรักษาแบบทั้งร่างกายอาจรวมถึงการร่วมงานกับทีมงานหลากหลายสาขาที่ประกอบด้วยผู้จัดการเคส แพทย์ให้คำปรึกษา ทันตแพทย์ แพทย์ด้านสุขภาพจิต ผู้ประสานงาน นักโภชนาการ เภสัชกร นักสังคมสงเคราะห์ นักบำบัด และอื่นๆ
“หากคุณต้องการให้การรักษาในระดับที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย คุณก็จำเป็นต้องเจาะลึกหาสาเหตุต้นตอและจัดการกับทุกสาเหตุต้นตอ” Dr. Clevenger กล่าว
จากคำบอกเล่าของ Dr. Clarke แพทย์จะเป็นหัวหน้าทีมในรูปแบบการรักษาแบบทั้งร่างกาย โดยสมาชิกในทีมแต่ละคนจะได้รับการส่งเสริมให้ปฏิบัติงานเต็มความสามารถ ในฐานะผู้นำ แพทย์จะดูแลในสุขภาพของผู้ป่วยในส่วนกายภาพ และประสานงานกับบริการต่างๆ จากผู้ดูแลท่านอื่นเพื่อปฏิบัติตามแผนการรักษาแบบหลายมิติ
แน่นอนว่าแพทย์จะต้องดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการป่วยเฉียบพลันหรือได้รับบาดเจ็บร้ายแรงในทันที ซึ่งการตามหาสาเหตุต้นตอของภาวะฉุกเฉินดังกล่าวจะค่อยเอาไว้ทำทีหลัง แนวทางการรักษาแบบทั้งร่างกายจะมีประสิทธิภาพสูงสุดกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างเช่น โรคข้อต่ออักเสบ โรคหอบหืด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ
Dr. Clarke และ Dr. Clevenger เห็นพ้องต้องกันว่าผู้ที่ป่วยเป็นอาการเหล่านี้จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดูแลรักษาแบบทั้งร่างกาย เพราะว่าโรคเรื้อรังส่วนใหญ่จะสามารถสืบสาวกลับไปหาแง่มุมของสุขภาพผู้ป่วยนอกเหนือจากทางร่างกาย หรืออย่างน้อยก็สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการทางการแพทย์เรื้อรังยังมักจะอยากรู้เกี่ยวกับสุขภาพของตนเองมากกว่า สงสัยว่าทำไมจึงเกิดอาการแบบนี้ขึ้น ไม่ย่อท้อ และเปิดรับวิธีการรักษาในแบบที่ต่างออกไป
สถานพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาทั้งร่างกายยังจะปฏิบัติงานแตกต่างออกไป ในการปฏิบัติตามหลักการรักษาแบบทั้งร่างกายอย่างประสบความสำเร็จ โรงพยาบาลจะจัดให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการดูแลรักษาได้อย่างสะดวกที่สุด โดยสามารถนัดหมายได้ง่ายและมีชั่วโมงทำการยาวขึ้น
โรงพยาบาลจะมีเครือข่ายผู้ให้บริการประเภทอื่นที่กว้างขวาง ที่สามารถตอบรับกับปัญหาสุขภาพในเรื่องต่างๆ นอกจากนี้ยังมีระบบ IT ด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพเพื่อประสานงานการดูแลรักษาทั่วทั้งเครือข่าย และดึงข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยจากแหล่งข้อมูลภายนอกหรือแหล่งสมัยใหม่เพื่อช่วยให้เห็นภาพทั้งหมดเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วย นอกจากนี้ แพทย์ของสถานพยาบาลยังต้องมีความถ่อมตนที่จะตระหนักว่าตนเองอาจไม่มีคำตอบสำหรับทุกอย่าง
Dr. Clevenger กล่าวว่า “สิ่งแรกที่หมอจะบอกกับผู้ป่วยคือนี่เป็นการรักษาอย่างช้าๆ ผู้ป่วยจำเป็นต้องทราบว่านี่เป็นการเดินทางไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้นที่เราจะเดินไปด้วยกัน และจะต้องใช้เวลา บางทีอาจหลายเดือน หรือแม้แต่หลายปี”
แน่นอนว่าแนวทางการดูแลสุขภาพแบบทั้งร่ายกายจะมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับผู้ดูแลและผู้ป่วยทั่วโลกที่ฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19 ผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจจากการสูญเสียคนที่เรารัก การจ้างงาน และการได้ใกล้ชิดกันจะส่งผลให้เกิดอาการป่วยทางร่างกายมากมาย ที่ต้องอาศัยการดูแลสุขภาพองค์รวมเพื่อทำการรักษา
ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นหรือเพราะความตั้งใจ มีสถานพยาบาลหลายแห่งมากขึ้นที่จำเป็นจะต้องให้การดูแลรักษาแบบทั้งร่างกาย เพื่อให้สามารถรักษาผู้ป่วยในยุคหลัง COVID-19 ได้อย่างประสบความสำเร็จ